โจทย์คณิตศาสตร์พร้อมเฉลย ชุดที่ 2
ก่อนเริ่มทำโจทย์ เรามารู้จักอสมการ(ที่อาจจะช่วยให้สะดวกขึ้นในการแก้โจทย์ในชุดนี้หรือชุดต่อๆไป) เกี่ยวกับค่าเฉลี่ยเลขคณิต($\mathrm{AM}$) ค่าเฉลี่ยเรขาคณิต($\mathrm{GM}$) และค่าเฉลี่ยฮาร์โมนิค($\mathrm{HM}$) ของจำนวนจริงบวก $a_1,\ldots,a_n$ ที่นิยามดังนี้ \[ \mathrm{AM}=\frac{a_1+\cdots+a_n}{n},\quad\mathrm{GM}=\sqrt[n]{a_1\times\cdots\times a_n}, \quad\mathrm{HM}=\frac{n}{\frac{1}{a_1}+\cdots+\frac{1}{a_n}} \] แล้วเราจะได้อสมการ \[ \mathrm{AM} \geqslant \mathrm{GM} \geqslant \mathrm{HM} \] และอสมการจะกลายเป็นสมการก็ต่อเมื่อ $a_1=\cdots=a_n$ นั่นคือค่าทั้งหมดเท่ากัน
อสมการดังกล่าวสามารถแสดงได้ดังนี้ จากข้อ 3 ของ โจทย์คณิตศาสตร์พร้อมเฉลย ชุดที่ 1 เรารู้ว่า $\mathrm{e}^{x-1}\geqslant x$ ถ้าเราให้ $\alpha_i=\frac{a_i}{\mathrm{AM}}$ แล้วเราจะได้ \[\begin{array}{lcl} \mathrm{e}^{\alpha_1-1} & \geqslant & \alpha_1 \\ \mathrm{e}^{\alpha_2-1} & \geqslant & \alpha_2 \\ \vdots & \vdots & \vdots \\ \mathrm{e}^{\alpha_n-1} & \geqslant & \alpha_n \end{array} \] เมื่อเอาอสมการทั้งหมดคูณกัน เราจะได้ \[ \mathrm{e}^{(\alpha_1+\cdots+\alpha_n)-n}=\mathrm{e}^0\geqslant\alpha_1\cdots\alpha_n=\frac{a_1\cdots a_n}{\mathrm{AM}^n} \] แต่ $\mathrm{e}^0=1$ ทำให้เราได้ $\mathrm{AM}^n\geqslant a_1\cdots a_n$ หรือ $\mathrm{AM}\geqslant\sqrt[n]{a_1\cdots a_n}$ นั่นคือ \[ \mathrm{AM}\geqslant \mathrm{GM} \] ถ้าเราใช้อสมการนี้กับ $\frac{1}{a_1},\cdots,\frac{1}{a_n}$ เราจะได้ \[ \frac{\frac{1}{a_1}+\cdots+\frac{1}{a_n}}{n} \geqslant \sqrt[n]{\left(\frac{1}{a_1}\cdots\frac{1}{a_n}\right)} \] จัดรูปใหม่ \[ \sqrt[n]{a_1\cdots a_n} \geqslant \frac{n}{\frac{1}{a_1}+\cdots+\frac{1}{a_n}} \] หรือ \[ \mathrm{GM}\geqslant \mathrm{HM} \] ซึ่งสุดท้ายแล้วเราจะได้อสมการสำหรับสามค่าเฉลี่ยเป็น $\mathrm{AM}\geqslant\mathrm{GM}\geqslant \mathrm{HM}\quad\square$
-
จงหาค่าที่มากกว่าระหว่าง $1012^{2023}$ และ $2023!$
แนวทางการหาคำตอบ:
เนื่องจาก $1012=\frac{2023+1}{2}$ ถ้าเราแทน $2023$ ด้วย $n$ เราน่าจะแก้ปัญหาได้ดีกว่า (อย่างน้อยก็ไม่ต้องคำนวณเกี่ยวกับตัวเลข) และโดยใช้อสมการ $\mathrm{AM} > \mathrm{GM}$ กับจำนวนจริงบวก $1,2,\ldots,n$ เราจะได้ \[ \begin{array}{rcl} \frac{1+2+\cdots+n}{n} & > & \sqrt[n]{1\times 2\times\cdots\times n} \\ \frac{n(n+1)}{2n} & > & \sqrt[n]{n!} \\ \left(\frac{n+1}{2}\right)^n & > & n! \end{array} \] จะสังเกตว่าสำหรับปัญหานี้อสมการจะเป็นสมการก็ต่อเมื่อ $n=1$ เท่านั้น นอกเหนือจากนี้แล้วค่าทางซ้ายมือจะมากกว่าค่าทางขวามือเสมอ ดังนั้นเราจะได้ $1012^{2023} > 2023! \quad\blacksquare$ -
ให้ $a$ กับ $b$ เป็นจำนวนจริงบวก จงหาค่าที่น้อยที่สุดของผลบวก $\frac{a}{b}+\frac{b}{a}$
แนวทางการหาคำตอบ:
ปัญหาข้อนี้จะแก้ได้ง่ายถ้าใช้อสมการ $\mathrm{AM} \geqslant \mathrm{GM}$ ดังนี้ \[ \begin{array}{rcl} \frac{\frac{a}{b}+\frac{b}{a}}{2} & \geqslant & \sqrt{\frac{a}{b}\times\frac{b}{a}} \\ \frac{a}{b}+\frac{b}{a} & \geqslant & 2 \end{array} \] นั่นคือค่าที่น้อยที่สุดของผลบวกคือ $2$ และเกิดขึ้นเมื่อ $\frac{a}{b}=\frac{b}{a}$ หรือ $a=b\quad\blacksquare$ -
จงหาค่าที่มากกว่าระหว่าง $23^{23}$ และ $22^{24}$
แนวทางการหาคำตอบ:
เราจะมองปัญหานี้ในรูปแบบทั่วไปโดยการเปรียบเทียบระหว่าง $n^n$ กับ $(n-1)^{n+1}$ ถ้าเราหาค่าลอการิทึมธรรมชาติของทั้งสองเทอม แล้วจัดรูปอสมการใหม่ เราจะพบว่าเรากำลังเปรียบเทียบระหว่าง $\frac{\ln n}{n+1}$ กับ $\frac{\ln (n-1)}{(n-1)+1}$ ซึ่งอยู่ในรูปแบบเดียวกันและเราจะใช้รูปแบบนี้ในการแก้ปัญหานี้ ให้ฟังก์ชัน $f(x)=\frac{\ln x}{x+1}$ เราจะได้อนุพันธ์ \[ f'(x)=\frac{1+\frac{1}{x}-\ln x}{(x+1)^2}\] ถ้า $f'(x)=0$ เราจะได้ $1+\frac{1}{x}-\ln x=0$ การหาคำตอบของสมการนี้ไม่ง่าย (ยกเว้นใช้แอปพลิเคชัน สมการไม่เชิงเส้น โดยใส่1+1/x-log(x) ในช่อง f(x) และคลิก คำนวณ จะได้คำตอบเป็น 3.5911) แต่เราจะพิจารณาดังนี้ สังเกตว่า $f'(\mathrm{e})=1+\frac{1}{\mathrm{e}}-\ln\mathrm{e} > 0$ แต่ $f'(\mathrm{e}^2)=1+\frac{1}{\mathrm{e}^2}-\ln\mathrm{e}^2 < 0$ แสดงว่าค่า $x^\star$ ที่ทำให้ $f'(x^\star)=0$ ต้องอยู่ในช่วง $\mathrm{e} < x^\star < \mathrm{e}^2$ และเนื่องจาก $\ln x$ เป็นฟังก์ชันเพิ่มขณะที่ $1+\frac{1}{x}$ เป็นฟังก์ชันลด เราจะได้ $x^\star$ มีเพียงค่าเดียว ดังนั้น $f(x)$ จะคุณสมบัติดังนี้ \[ \frac{\ln x}{x+1} \left\{ \begin{array}{ll} \text{เป็นฟังก์ชันเพิ่มเมื่อ}& x < x^\star \\ \text{เป็นฟังก์ชันลดเมื่อ}& x > x^\star \end{array} \right. \] จากตรงนี้เราสามารถที่จะตอบคำถามได้มากกว่าที่โจทย์ต้องการ เช่น $2566 > 2023 > x^\star$ เราจะได้ $\frac{\ln 2566}{2566+1}<\frac{\ln 2023}{2023+1}$ หรือ $2566^{2024} < 2023^{2567}$ ดังนั้นเราตอบคำถามของโจทย์ได้ว่า $\frac{\ln 23}{23+1}<\frac{\ln 22}{22+1}$ หรือ $23^{23} < 22^{24}\quad\blacksquare$ -
ให้ $n$ เป็นจำนวนเต็มบวกหรือศูนย์ จงหาตัวหารร่วมมากของ $21n+4$ และ $14n+3$
แนวทางการหาคำตอบ:
การหาตัวหารร่วมมาก (ใช้สัญลักษณ์ $\gcd$) สำหรับโจทย์ข้อนี้ใช้วิธีของยูคลิดจะได้ดังนี้ \[ \begin{array}{rcl} \gcd(21n+4,14n+3) & = & \gcd(\text{เศษของการหาร}\;(21n+4)\div(14n+3),14n+3) \\ & = & \gcd(7n+1,\text{เศษของการหาร}\;(14n+3)\div(7n+1)) \\ & = & \gcd(7n+1,1)\;\text{เศษของการหารเป็น}\;0 \\ & = & 1 \end{array} \] หลักการคือ เราจะเก็บตัวที่น้อยกว่าและเศษของการหารตัวที่มากกว่าด้วยตัวที่น้อยกว่าเพื่อใช้ในการคำนวณถัดไป จนกว่าการหารจะลง และตัวหารที่หารลงตัวคือตัวหารร่วมมาก เพราะฉะนั้น $\gcd(21n+4,14n+3)=1$ นั่นคือ $21n+4$ เป็นจำนวนเฉพาะสัมพัทธ์กับ $14n+3\quad \blacksquare$ -
ให้ $x$ เป็นจำนวนจริง จงแก้สมการ $\sqrt{x+17}=x^2-17$
แนวทางการหาคำตอบ:
(คำตอบของสมการนี้สามารถคำนวณได้ด้วยแอปพลิเคชัน สมการไม่เชิงเส้น โดยใส่sqrt(x+17)-x^2+17 ในช่องฟังก์ชัน แต่ถ้าจัดรูปสมการใหม่เป็นพหุนามก็จะหารากทั้งหมดได้ด้วยแอปพลิเคชัย รากของพหุนาม)
ถ้า $r$ เป็นคำตอบของสมการนี้มันจะต้องสอดคล้องกับเงื่อนไข $r+17\geqslant 0$ และ $r^2-17\geqslant 0$ ให้ $S$ เป็นเซตของเงื่อนไขดังกล่าว เราจะได้ \[ S=[-17,-\sqrt{17}]\cup[\sqrt{17},\infty) \] และคำตอบของสมการถ้ามีจะอยู่ในเซต $S$ เท่านั้น
เพื่อลดการคำนวณที่ไม่จำเป็นเราจะแทน $17$ ด้วย $a$ แล้วเราจะได้ \[ \begin{array}{rcl} \sqrt{x+a} & = & x^2 - a \\ x+a & = & x^4 - 2x^2a + a^2 \\ a^2 - (2x^2+1)a + x^4-x & = & 0 \\ a &=& \frac{(2x^2+1)\pm\sqrt{(2x^2+1)^2-4(x^4-x)}}{2} \\ &=& \frac{(2x^2+1)\pm(2x+1)}{2} \\ &=& x^2+x+1,\;x^2-x \end{array} \] และเมื่อแทน $a$ ด้วย $17$ เราจะได้สองสมการ \[ \begin{array}{rclrcl} x^2+x-16 &=& 0, &\quad x^2-x-17 &=& 0 \\ x &=& \frac{-1\pm\sqrt{65}}{2}, &\quad x &=& \frac{1\pm\sqrt{69}}{2} \end{array} \] จากสี่ค่าที่คำนวณได้พบว่า $\frac{1-\sqrt{69}}{2}$ กับ $\frac{-1+\sqrt{65}}{2}$ ไม่อยู่ใน $S$ เพราะฉะนั้นคำตอบของสมการนี้จึงมีเพียงสองค่าคือ $\frac{-1-\sqrt{69}}{2}$ และ $\frac{1+\sqrt{69}}{2}\quad\blacksquare$